75 ปี
บ้านเณร
พระหฤทัย
ศรีราชา

เรื่องเล่าบ้านเณรในอดีต
โอกาสฉลอง 75 ปี บ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา



รูปปั้นพระหฤทัย

ถ้าตั้งคำถามว่า  อะไรคือเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของบ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา

บรรดาศิษย์เก่าและคนทั่วไปคงจะนึกถึงตึกเซมินารีอุม  อาคารคอนกรีตหลังแรกของอำเภอศรีราชา  ที่สร้างตั้งแต่ ค.ศ.1935  (ที่จริงสร้างปี 1936)  ปีที่เป็นจุดกำเนิดของบ้านเณรที่ศรีราชา  ปีที่อพยพขนข้าวของย้ายมาจากบ้านเณรพระหฤทัยที่บางช้าง

ในบรรดาข้าวของที่ขนย้ายมา  ก็มีรูปปั้นพระหฤทัยรูปหนึ่งอยู่ด้วยในข้าวของเยอะแยะที่เราไม่เคยเห็นบัญชีว่ามีอะไรบ้าง  รูปปั้นพระหฤทัยที่ว่านี้คือ  รูปปั้นที่เป็นโลหะ  ขณะนี้ตั้งอยู่ที่ตรงหัวตึกพระหฤทัย  ถัดจากถ้ำแม่พระเข้ามานั่นเอง  แล้วก็สร้างจำลองขึ้นอีกหนึ่งรูป  ขนาดเท่า ๆ กัน  คงทำด้วยไฟเบอร์กลาส  ที่ใช้แห่วันฉลองวัด  ขณะนี้น่าจะตั้งอยู่ในตึกพระหฤทัยตรงห้องโถงติดห้องอาหาร

รูปปั้นพระหฤทัยที่ว่านี้หล่อด้วยโลหะ  (ไม่ทราบว่าเป็นเหล็กผสมอะไร)  ยังไม่ได้ตรวจสอบหรือลองชั่งว่าหนักเท่าใด  แต่คนเดียวยกไม่ไหวแน่ ๆ  ถ้าจะคะเนก็คงราว 75 กิโลกรัม  (เอาเป็นตัวเลขมงคล  ครบรอบ 75 ปีบ้านเณรเลย)  ความสูงวัดแล้วรวมฐานก็ 1.50 เมตรพอดี  เป็นรูปปั้นประทับยืนเต็มตัว 

ลักษณะพิเศษที่ต่างจากรูปพระหฤทัยทั่วไปที่พบเห็นทั้งรูปปั้นและรูปวาดคือ  ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย  แบพระหัตถ์ลักษณะให้พร  พระหัตถ์ขวาสูงเท่าพระเกศา  พระหัตถ์ซ้ายกางกว่าเล็กน้อยและต่ำกว่าเล็กน้อย  ระยะห่างระหว่างพระหัตถ์ประมาณ 60 ซม.  ดูสมส่วนสวยงามและสง่า  รูปที่จำลองขึ้นช่วงพระหัตถ์จะถ่างออกมากไปหน่อยและจะต่ำลง  สู้แบบเดิมไม่ได้

ปัจจุบันรูปปั้นนี้ลงสีฉูดฉาดและมีลวดลายที่ตัวเสื้อคลุม  น่าจะทำภายหลัง  เท่าที่จำได้  เมื่อปี ค.ศ.1953 นั้นเป็นสีขาวทั้งองค์  ส่วนดั้งเดิมจริง ๆ จากบางช้างไม่ปรากฏว่าเป็นสีอะไร  ฐานเดิมเป็นปูนสูง 1 เมตร  กว้าง 60 ซม.  ปัจจุบันทำใหม่บุหินแกรนิตแดง  สวยสู้ของเดิมไม่ได้

เรื่องของตำแหน่งที่ตั้ง  สันนิษฐานตามภาพที่พอจะใช้เป็นข้อมูลก็มีอยู่ 5 ตำแหน่ง 

ตำแหน่งที่ 1  น่าจะเป็นตำแหน่งแรกจนถึงปี ค.ศ.1953  คือระหว่างเรือนไม้หลังแรกกับตึกเซมินารีอุม  จะทำเป็นสวนหย่อมง่าย ๆ ด้านหลังมีต้นไม้  เช่น  ฝรั่ง  น้อยหน่า  และเป็นบ่อน้ำคอนกรีตใต้ดิน  เก็บน้ำฝนไว้ใช้ดื่มกิน  ถ้าเดินจากตึกเซมินารีอุมมาห้องอาหารจะต้องผ่านรูปนี้  หันหน้าออกถนนตรงประตูทางเข้าพอดี  ด้านหลังคือวัดหลังปัจจุบัน

ตำแหน่งที่ 2  ราว ค.ศ.1954  ท่านอธิการเคียมสูนให้สร้างอาคารนอน 2 ชั้น  อาคารตากผ้า  สร้างสวนข้างตึกเซมินารีอุม  รูปพระหฤทัยจึงต้องย้ายชั่วคราวไปอยู่หัวตึกเซมินารีอุม  หันหน้าออกถนน

ตำแหน่งที่ 3  ราว ค.ศ.1955  ได้ย้ายไปอยู่หน้าอาคารไม้หลังแรก 

ในภาพ เป็นวันที่พระคุณเจ้าโชแรง ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ มาเยี่ยมบ้านเณร ตอนนั้นพระคุณเจ้าเคียมสูนยังเป็นอธิการ และพระคุณเจ้าสงวน และคุณพ่อสวัสดิ์  กฤษเจริญ  ยังมีชีวิตอยู่

ตำแหน่งที่ 4  ราว ค.ศ.1956  ย้ายไปอยู่หน้าตึกเซมินารีอุมด้านหน้า  หันหน้าเข้าหาตึก 

ได้มีการสร้างสวนบริเวณนั้น ด้านหลังเห็นบ้านพักพระสังฆราช
จากภาพตึกเซมินารีอุม (ภาพที่ 2) จะเห็นรูปพระหฤทัยอยู่หน้าตึกด้วย

ตำแหน่งปัจจุบัน  ไม่ทราบแน่ชัดว่าย้ายมาตรงนี้ปีใด  ก็คงหลังปี ค.ศ.1969  หลังจากอธิการบรรจง  อารีพรรค  รื้ออาคารไม้หลังแรก  และสร้างตึกพระหฤทัย 3 ชั้นแทน

 ภาพสุดท้ายเป็นภาพมุมกว้าง ซ้ายสุดเห็นอาคารไม้สองชั้นหลังแรก
ถัดมาเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว (เรือนตากผ้า)เรียงต่อจากเรือนไม้หลังแรก
ถัดไปเห็นนิดเดียว เป็อาคารนอนสองชั้นขวาง
ขวาสุดเป็นตึกเซมินารีอุม เห็นรูปพระหฤทัยตั้งตรงหัวตึก

“พระทัยคือที่พัก  ให้ลูกรักได้อาศัย
 ปกครองป้องกันภัย  ด้วยพระทัยกรุณา”

Back to Mainpage